เรื่องเล่าประสบการณ์การใช้ยาแบบขำ ๆ (ที่ฮาแทบไม่ออก) ประสาชาวบ้าน

             เชื่อแน่เหลือเกินว่า  ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับการให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยา ต้องเคยพบประสบการณ์การใช้ยาแบบขำ ๆ แปลก ๆ ที่ฮาแทบไม่ออกหลายเหตุการณ์  การนำเรื่องราวเหล่านี้มาแบ่งปัน มิได้มีวัตถุประสงค์อื่นใดนอกจากความเข้าใจบริบทชุมชน และคงเป็นการบ้านที่ท้าทายแก่ผู้มีหน้าที่ส่งมอบยาว่าจะมีกลเม็ดอย่างไรเพื่อให้ยาที่ผู้ใช้บริการระดับรากหญ้าได้รับประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดจากการใช้ยา  รวมทั้งได้รับผลด้านการรักษาตามที่พึงประสงค์....

หลายเรื่องราวเป็นเรื่องที่พบเจอกับตัวผู้เขียนเอง  แต่อีกหลายเรื่องราวที่ได้รับฟังจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ มองในมุมมองอีกด้านหนึ่ง เรื่องการใช้ยา แม้จะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เอาเข้าจริง ปัญหาตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ ไปจนถึงใหญ่โตมักพบเจอเสมอ ช่องว่างระหว่างการรับรู้ของชาวบ้านกับองค์ความรู้ของผู้ให้บริการอาจมีระยะทางกว้างและยาวไกล หากผู้ให้บริการไม่ตระหนักและมักคิดสรุปภาพรวมไปเองโดยไม่สนใจความเป็นปัจเจกของผู้ใช้บริการแต่ละราย รวมทั้งไม่เข้าใจบริบททางสังคมและวิถีการดำรงชีวิตที่ล้วนเป็นปัจเจก อาจทำให้ช่องว่างดังกล่าวยิ่งห่างกันมากขึ้น หาจุดบรรจบยาก
เปาะจิ (คุณตา) แก่ ๆ ท่านหนึ่งมารับยาตามการนัดรักษาของแพทย์  ด้วยอาการริดสีดวงทวารยังไม่หายดี แพทย์จึงสั่งเพิ่มยาริดสีดวงทวารชนิดเหน็บทวารหนักให้  ระหว่างการจ่ายยา เปาะจิเห็นยาเหน็บอยู่ในซองก็รีบออกปากชื่นชมยานี้ทันทีว่า “ยานี้ดีจริง ๆ กินไปแล้วรู้สึกอาการปวดเบ่งตอนถ่ายค่อยยังชั่ว นี่เปาะจิกินทุกวันเลย กินวันละเม็ดก่อนนอน”
เหตุการณ์เช่นนี้มักเจอกับผู้ป่วยสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีลูกหลานคอยดูแล เช่นเดียวกับผู้ป่วยคลินิกโรคหืดแห่งหนึ่ง ขณะที่ให้สาธิตวิธีการพ่นยา เพราะเคยได้รับมาแล้วก่อนเข้ารับคำปรึกษาการใช้ยา  กลับพบว่ากดยาพ่นเข้ารูจมูกแล้วสูดผ่านจมูกเข้าไป  ผู้ป่วยจึงบ่นว่ายาที่ให้ไปไม่ค่อยดีเลย สูดแล้วก็ไม่เห็นดีขึ้น  ผู้สูงอายุบางคนกดยาพ่นทีเดียว 10 กว่าครั้ง ก่อนจะสูดเข้าไป 1 ที  ยาที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการใช้ ผู้จ่ายยาควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหากผู้ใช้กลับไปใช้ยาผิดวิธี ก็อาจไม่สามารถได้รับประสิทธิภาพจากยาอย่างเต็มที่
ทัศนคติและความเชื่อเรื่องอาหารแสลงกับการกินยาก็ยังคงเป็นปัญหาในบริบทพื้นที่ หน้าทุเรียน หน้าแตงโม ทีไร คนไข้มักไม่กินยาทุกที เพราะกลัวว่ากินยาพร้อมทุเรียนยาจะตีกัน บางรายถึงกับลงทุนเว้นระยะกินยาเบาหวานความดันเกือบครึ่งเดือน เพียงเพราะไปกินแตงโม ทุเรียน หรืออื่น ๆ ที่คิดว่าแสลง ทำให้เกิดปัญหาควบคุมความดันเบาหวานไม่ได้  ส่วนรายการอาหารแสลงตามความเชื่อของชาวบ้านมีมากมายหลายรายการ ทั้งข้าวหมาก มันสำปะหลัง แตงกวา ฟักทอง ขนุน เป็นต้น ซึ่งเรื่องความเชื่อเรื่องอาหารแสลงกับยายังคงเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงอีกยาวในบริบทบ้านเรา
ชาวบ้านแถบบ้านเรามักใจดี บ่อยครั้งที่มีการแบ่งปันยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลให้เพื่อนบ้านได้กินด้วย  เพราะทึกทักเอาว่าอาการที่เพื่อนบ้านเป็นก็เหมือนอาการที่ตนกำลังเป็น บางครั้งยังพบมีการแบ่งปันยาความดัน  เพราะเพื่อนบ้านมีอาการเวียนศีรษะบ่อย เจ้าของรายการยาก็เข้าใจว่าเป็นความดันเหมือนที่ตนกำลังเป็น
ฉลากยานี่ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ  บางรายเห็นฉลากเขียน “รับประทานยา เช้า-เย็น”  ผู้ป่วยกลับกินยาไป 3 มื้อ โดยรวมมื้อเที่ยงอีกมื้อด้วย  เพราะเข้าใจว่า เครื่องหมาย “-“ ขั้นกลางมีความหมายว่า “ถึง”
ฉลากยาแบบเขียนแล้วเขียนไม่ชัดเจนชวนให้ชาวบ้านเข้าใจผิด ที่เคยพบ เช่น ยาน้ำที่แพทย์สั่งจ่าย ¾ ช้อนชา  จำเป็นต้องสอบถามว่า ¾ คืออะไร ให้ชาวบ้านบอกเลยว่าอยู่ตรงขีดไหนของช้อนชา  เพราะเคยพบว่าคนไข้กลับไปให้ลูกกิน 3 ถึง 4 ช้อนชามาแล้ว เนื่องจากการเขียนเลข ¾ ไม่ชัดเจนบวกกับความไม่เข้าใจของชาวบ้าน  โชคดีที่เด็กไม่มีปัญหาอะไร
ครั้งหนึ่งได้ฟังเรื่องราวที่เกิดจากความไร้เดียงสาของเด็ก  ยาเม็ดวิตามินซีรสองุ่นบริษัทหนึ่งมีลักษณะรี และเม็ดสีม่วง  ขณะที่ที่บ้านเดียวกันนั้นมีผู้ป่วยจิตเวช นอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งมียา Alprazolam 1 mg อยู่ที่บ้านด้วย ลักษณะสีและเม็ด คนในวัยเด็กย่อมแยกกันไม่ออกว่าอันไหนคือวิตามินซี อันไหนยานอนหลับ กินไป 1 เม็ด  หลับสนิทไป 3 วัน
ยาป้ายตาที่เราจ่ายไป ผู้ป่วยบางรายเอาไปป้ายบนเปลือกตา โดยการหลับตาลงแล้วบรรจงป้ายยาทั่วเปลือกตา รอวันที่ยาจะค่อย ๆ ซึมผ่านชั้นเปลือกตาแล้วลงสู่ตาในเบื้องล่าง เวลาอธิบายจึงต้องเน้นย้ำว่า “ให้ป้ายในดวงตา ป้ายยาในเปลือกตาด้านล่าง ไม่ใช่ป้ายบนเปลือกตาด้านนอก”
ในช่วงที่ยาแก้ไอ Dextromethorphan เป็นที่ต้องการและแสวงหาจากกลุ่มวัยรุ่น ขณะที่ยานี้ได้รับการประสานจากหน่วยงานของรัฐให้ร้านยามีการควบคุมเข้มงวดและระมัดระวังมิให้การจำหน่ายแก่กลุ่มวัยรุ่น  ด้วยสายตากว้างไกลและชาญฉลาด วัยรุ่นหลายคนเวลามาร้านยามักกวาดสายตามองยาที่เข้าข่ายจะใช่ Dextromethorphan จนบรรจบสายตาที่ Bisacodyl (ยาระบาย) เพราะเม็ดยา สี และลักษณะคล้ายกันมากจนแยกกันไม่ค่อยออก อธิบายให้แล้วว่าเป็นยาระบายก็ไม่ฟัง บอกให้จัดมา 30 เม็ด เลยต้องจัดให้ตามคำขู่ขอ ไม่ทราบเช่นกันว่าหลังจากกินยาที่ได้จากร้านยาไปยังจะมีแรงลุกขึ้นเดินอีกหรือไม่ งานนี้คงจะเพลียไปอีกหลายวัน
ยาที่ให้กินก่อนนอน  ต้องเน้นเสมอว่า “ก่อนนอนกลางคืน” เพราะเคยมีกรณีที่ผู้ป่วยนำยาที่ฉลากระบุกินก่อนนอนมาบอกว่า ก่อนนอนทุกครั้งจะกินยาตัวนี้ ไม่ว่าจะนอนงีบตอนเที่ยง หรือนอนหลับยามบ่าย ๆ รวมทั้งการนอนยามค่ำคืนอีกด้วย
คนไข้บางคนชอบเพิ่มขนาดยาเองโดยไม่ได้สอบถาม เคยมีผู้ป่วยมีปัญหาอาการข้างเคียงจากยาแก้ปวดไพรอกซีแคม เกิดอาการแสบในท้องมากหลังกินยาชนิดนี้  สอบถามวิธีกิน ก็พบว่าผู้ป่วยกินยาไพรอกซีแคมขนาด 20 มิลลิกรัมต่อแคปซูลไปแบบ 2 แคปซูลเช้า  และ 2 แคปซูลเย็น โดยเพิ่มยาไปเองเพราะเข้าใจผิดว่าจะทำให้อาการปวดหายเร็วขึ้น
คนไข้หอบหืด เภสัชกรกำลังจ่ายยา Theophylline อยู่  ด้วยความที่คุ้นชินกับยาที่เคยได้รับมานานแล้ว จึงถามก่อนเภสัชกรจะจ่ายยาครบทุกรายการว่า “ยาแก้ผ้าหมอไม่จ่ายด้วยหรือ” ทำเอาเภสัชกรงงว่ายาแก้ผ้าคือยาอะไร  ซึ่งคนไข้หมายถึงยา Terbutaline ที่ไม่ได้อยู่ในแผงนั่นเอง
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางเหตุการณ์ที่มีโอกาสพบเจอ เทคนิคการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละราย ล้วนแพรวพราวไปต่าง ๆ นานา ตามความเข้าใจของผู้ป่วยเอง หรือเพราะจากการเล่าต่อกันมา เป็นหน้าที่ของเภสัชกร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งมอบยาแก่ผู้ป่วยต้องค้นหาปัญหาที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละรายให้ได้  ในทางทฤษฎีเรียกปัญหานี้ว่า Drug-Related Problems ซึ่งแบ่งได้ 9 ประเภทด้วยกัน ได้แก่  ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาแต่ไม่ได้รับ,  เลือกใช้ยาผิด ไม่ถูกกับโรค หรือไปรับยาที่ไม่ถูกกับโรคหรืออาการที่ตนเองกำลังเป็น,  ได้รับยาในขนาดน้อยกว่าที่ควรจะกิน,  ได้รับยาในขนาดมากกว่าที่ควรจะกิน,  กินยาเข้าไปแล้วเกิดปัญหาอาการไม่พึงประสงค์จากยา,  ได้รับยาที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา และหรือยากับอาหาร,  ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่าย,  ใช้ยาโดยไม่มีข้อบ่งใช้ชัดเจน เช่น ได้รับยาโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือการจงใจให้เกิดพิษจากยา (ใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการฆ่าตัวตาย เป็นต้น)  และอื่น ๆ เช่น การได้รับยาซ้ำซ้อน  มีหลายกรณีที่ได้รับยาแก้ปวดพาราเซตามอลจากโรงพยาบาล แต่กลับบ้านยังไปกินยาในชื่อการค้าทิฟฟี่ หรือดีคอลเจน ซึ่งมีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ
การให้เวลาพูดคุยกับผู้ป่วยแต่ละรายให้มากยิ่งขึ้น จะทำให้เราสามารถสืบค้นปัญหาหรือโอกาสที่อาจเกิดปัญหาของผู้ป่วยได้ ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับผู้ป่วยได้ เหล่านี้ย่อมสอดคล้องกับแนวคิดการให้บริการทางสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ บริการแบบองค์รวม ที่สำคัญในบริบทวิถีอิสลามเช่นบ้านเรา เรายังสามารถสอดแทรกหลักการอิสลามที่ถูกต้องเข้ากับการรักษาของผู้ป่วยได้ด้วย  เช่น เวลากินยา แล้วอาการของโรคบรรเทาหายไป มุสลิมจะบอกว่า “ยานี้ดี” ไม่ได้ แต่ต้องศรัทธามั่นว่า ยาและการรักษาเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้ที่จะอนุมัติให้หายหรือไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมาย Obra’90 (The Omibus Budget Reconcillation Act of 1990) กำหนดให้เภสัชกรต้องแนะนำการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วยทุกครั้งที่จ่ายยา หากผู้ป่วยไม่ยอมรับคำแนะนำจะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้ป่วยไม่ต้องการรับคำแนะนำการใช้ยาเอง มิเช่นนั้นหากมีการฟ้องร้อง เภสัชกรจะมีความผิด ประเด็นสำคัญของการให้คำแนะนำวิธีการใช้ยา ก็เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาอย่างสูงสุด หากไม่มีเวลาเพียงพอ อาจจะแนะนำสั้น ๆ หรือทำฉลากเสริม หรือแจกเอกสารเพิ่มเติมให้ผู้ป่วยกลับไปอ่าน โดยเฉพาะยาที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ เช่น ยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาเหน็บ ยาพ่น
การให้บริการแบบที่เข้าถึงแก่นวิถีทางสังคมของผู้ใช้บริการย่อมเป็นการเสริมคุณค่าของผู้ป่วย เป็นการเข้าใจ และเข้าถึงวิถีชีวิตโดยแท้จริง ทำให้ผู้ป่วยยอมรับและพึงพอใจต่อการให้บริการมากยิ่งขึ้น

ที่มา : http://www.pharmaciststory.worldpress.com/ โดย ภก.สุฟยาน ลาเต๊ะ เภสัชกรชำนาญการ  รพ.ยะหริ่ง  ปัตตานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น