..ไก่ขัง..ยอกดอย(ไก่ขัน..ยอดดอย)..

             จากมุมหนึ่งของห้องยา ปางมะผ้า มส.   “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก  แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย
แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย  เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ”

             ผมคิดว่าบทกวีของท่านสุนทรภู่ที่เคยท่องสมัยเมื่อยังเด็กได้เปรียบเปรยการสื่อสารทางการพูดจาหรือสนทนากันได้อย่างน่าฟัง…
             เราอาจมีศัตรูหรือมิตรได้จากคำพูดของเรา คำพูดบางคำเมื่อได้ฟังแล้วประทับใจหรือมีความสุขได้แต่คำพูดบางคำก็สามารถเกิดผลตรงกันข้ามได้เช่นกัน..
             นอกจากนี้คำพูดยังมีความแตกต่างด้านสำเนียง ภาษาและความหมายดังเช่นในพื้นที่อำเภอที่ผมอยู่ มีชนเผ่า 7 ชนเผ่า ภาษาก็แตกต่างกันเช่น น้ำเปล่า คำเมืองเรียก น้ำบ่ดาย กะเหรี่ยงเรียก ทีโลโล มูเซอร์(ละหู่)เรียก อิก๊ะ   ถ้าเป็น น้ำเย็น คนเมืองจะเรียกเหมือนกัน ภาษาไตเรียกน้ำกั๊ด  มูเซอร์(ละหู่)เรียก อิก๊ะกอ  กะเหรี่ยงเรียก ทีขลี่   ลีซอ(ลิซู)เรียก อายะเหล่ๆ
            การได้เรียนรู้ภาษาเหล่านี้ผมคิดว่าจะช่วยในงานบริการอย่างมากและอีกอย่างก็เป็นเสน่ห์ของผู้ให้บริการ ผมได้สังเกตเห็นว่าเมื่อน้องที่ห้องยาพยามยามใช้ภาษาถิ่นอธิบายเรื่องยา เขาจะยิ้มหรือหัวเราะและช่วยสอนพูดให้ถูกต้องเป็นการสร้างความประทับใจให้ผู้รับบริการได้
            ผมมีเรื่องเล่าสนุกๆขำๆเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสารที่เกิดขึ้นที่ห้องยา..วันหนึ่งขณะที่กำลังจ่ายยา..  
            ป้าครับ..ป้าเป็นอะไรมาครับ..ผมทักก่อนจะแนะนำการใช้ยา…         
            ป้าเป็นเมีย อบต…….??? 
            ผมและเจ้าหน้าที่ในฝ่ายกลั้นหัวเราะแทบไม่ได้….บางคนปล่อยก๊ากจนน้ำหูน้ำตาไหล พอสงบอารมณ์หัวเราะได้ก็เลยถามใหม่ว่า……..
            แล้วเมีย..อบต.ทำไมต้องมาโรงพยาบาล
            ตกเขา..(ตกขาว)
            อ้าวเจ็บมากมั้ย…..ไม่เจ็บ..แต่คมเยอะๆ(คันมากๆ) ป้าพยายามเรียบเรียงคำตอบ
            ผมก็สงสัยตกเขาทำไมไม่เป็นอะไรเลย..แต่ก็เข้าใจเมื่อน้องที่อยู่ในห้องอภิบายให้ฟัง…
           
            เหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดที่โต๊ะสกรีน..พยาบาลถามยายคนหนึ่งซึ่งอายุมากแล้ว..
            ยายเป็นอะไรมา    
            ยายเป็นมูเซอร์
            มีโรคประจำตัวหรือเปล่า
            มี….มีรก(รถ)โฟวีลส์…
            พยาบาลงง..(ภาษาในท้องถิ่นนี้ส่วนมากจะพูดลงตัวสะกด ด ม ไม่ได้โดยมากจะลงด้วยตัวสะกด ก แทน ด และ ง แทน ม เช่น ผักกาด จะพูดว่าผักกาก หรือลมพัด จะพูดว่าลงพัก ความหมายแทบจะแตกต่างกัน) เพราะฉะนั้นจะต้องพยายามเข้าใจภาษาที่ใช้สื่อสารกัน…
            นอกจากการใช้ภาษาที่สื่อความหมายแล้ว..บางครั้งภาษาก็สามารถช่วยลดความขัดแย้งได้…วันหนึ่งผมต้องทำงานคนเดียว..และต้องให้บริการผู้ป่วยร้อยกว่าคน..เวลานั้นใกล้เที่ยงแล้ว..คนไข้รอรับยาหลายคน…ผมต้องคีย์ข้อมูล..พิมพ์ฉลาก.จัดยาและจ่าย..ทำให้เกิดความล่าช้า..ผู้ป่วยบางคนไม่พอใจ..พยายามเร่งเร้าให้เร็วๆ..ผมรู้สึกโมโหและรำคาญ..ทั้งๆที่เราก็ทำอย่างรีบเร่งแล้ว…ผมคิดว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อาจจะทำให้ทะเลาะกับผู้ป่วยได้…
            หมอขอโทษนะ….ที่ทำช้า..ไม่ทัน..จะพยายามทำเต็มที่ขอให้รอหน่อยนะ…ผมพูดให้ทุกคนที่กำลังกรูกันอยู่หน้าห้องยาฟัง…แล้วผมก็รีบทำงานต่อ..สักพักผมเริ่มเห็นหลายคนเริ่มทยอยไปนั่ง.และไม่มีใครมาเร่งเร้าอีก..มีบางคนถามว่า.หมอเหนื่อยมั้ย..ทานข้าวหรือยัง.เวลานั้นก็เลยเที่ยงแล้ว..และคนที่มาเร่งเร้าเราพอรับยาแล้วเขาก็ขอโทษ..ผมก็ยิ้มให้และบอกว่าไม่เป็นไร..ทานยาให้ครบนะมีปัญหาก็มาปรึกษาก็แล้วกัน..ผมคิดว่าบางเหตุการณ์ในมุมมองของเราคิดว่าเราไม่ผิด..เรามักจะเข้าข้างตัวเอง..แต่ถ้าคิดให้ลึกๆแล้ว.ถ้าเราเตรียมการณ์ดีเมื่อรู้ว่ามีคนไม่พอ..เราอาจขอความช่วยเหลือจากจุดบริการอื่น.ซึ่งอาจจะช่วยให้บริการเร็วขึ้น.ส่วนผู้รับบริการนั้นต้องรอนาน บางคนอาจจะมาตั้งแต่เช้า..บางคนอาจต้องรีบเร่งเพื่อให้ทันรถ.ถ้าไม่ทันก็กลับบ้านไม่ได้.บางคนเป็นห่วงลูกๆที่รออยู่ที่บ้าน.ถ้ากลับไม่ได้เขาจะนอนที่ไหน..ลูกๆจะกินอะไรกัน..บางคนถึงขนาดไม่รอตรวจหรือรอรับยา..แต่เรามักจะคิดว่า…มาทำไม.ไม่ตรวจไม่รับยาเสียเวลาทำงานจริงๆ
            ถ้าเราคิดให้กว้างๆ มองรอบด้าน มองในมุมที่ต่างจากเราคิด และพยายามสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยคำพูดที่ดีๆ ไพเราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างเรากับผู้ป่วยก็บรรเทาลงหรือหมดไป และเรามักคิดหรืออ้างอยู่เสมอเมื่อเกิดความขัดแย้งว่า เรา เสียสละ ขนาดนี้ทำไมถึงไม่เข้าใจ ทั้งนี้ก็เพราะเราคิดว่าการเสียสละคือการต้องยอมสูญเสียบางอย่างเช่น เวลา แรงกาย เงินทองหรืออื่นๆแต่ถ้าเราคิดว่าการเสียสละคือ การยังประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยคุณค่า มูลค่าของเราไม่ได้สูญเสียไป แต่กลับจะได้มากกว่าเดิมที่มีอยู่ เราจะมีมุมมองต่อผู้ป่วยที่เปลี่ยนไปและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของเรามากขึ้น

ที่มา : http://pharmaciststory.wordpress.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น